ประวัติการสร้างพระชินราชอินโดจีน

ประวัติการสร้างพระชินราชอินโดจีน 2485

เมื่อปี ๒๔๘๓ กลิ่นอายสงครามได้กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคอินโดจีน หลายประเทศตกอยู่ในภาวะสงคราม ประเทศไทยก็คือหนึ่งในนั้น ทั้งๆ ที่พยายามหลีกเลี่ยงทุกวิถีทาง เพราะรัฐบาลและคนไทยต่างก็รู้ดีว่า ผลพวงจากสงครามท้ายที่สุดแล้วก็จะเหลือแค่เพียง "ความสูญเสีย"
ในภาวะสงครามสิ่งที่เป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยก็คือ "สิ่งศักดิ์สิทธิ์-พระคู่บ้านคู่เมือง" แต่สำหรับทหารที่ต้องอยู่แนวหน้า "พระเครื่อง" ถือเป็นมงคลวัตถุคู่กายที่หลายคนต้องพกพาหาติดตัวไป
ด้วยเหตุนี้เอง ชาวไทยในแนวหลัง นำโดย "พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย" จึงตัดสินใจดำเนินงานสร้าง "พระพุทธชินราช" จำลองขนาดบูชาขึ้นมา พร้อมทั้ง พระพุทธชินราชขนาดเล็กแบบหล่อที่สามารถคล้องคอได้ ซึ่งแต่เดิมเป็นความตั้งใจของ ๒ สมาคมพุทธฯ คือ "พุทธธรรมสมาคม" และ "ยุวพุทธศาสนิกธรรม" แต่ต้องระงับเรื่องค้างไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๘๓ เพราะเกิดสงครามอย่างหนัก และเมื่อสงครามอินโดจีนสงบลง ในปี ๒๔๘๕ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย จึงเดินหน้าสานงานสร้าง "พระพุทธชินราช" อย่างจริงจัง
พระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ปี ๒๔๘๕ ได้ประกอบพิธี เททองหล่อ ที่วัด พระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ในวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕ ก่อนที่คณะกรรมการ พุทธสมาคมจะมากราบทูล ขอพระเมตตา ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) วัดสุทัศนเทพวราราม ในเรื่องการประกอบพิธีพุทธาภิเษก
ทั้งนี้พระองค์ทรงพระเมตตาให้คณะกรรมการพุทธสมาคมนำพระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม ในวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยมีท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) เป็นองค์ประธาน และท่านเจ้าคุณศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์) เป็นแม่งานผู้ดำเนินการ พร้อมทั้งได้ ทำพิธี เททองหล่อพระตามตำรับตำราการสร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ของวัดสุทัศน์อย่างถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์
พิธีพุทธาภิเษกที่จัดขึ้นในเวลานั้นถือว่ายิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ จนเป็นที่กล่าวขวัญมาถึงทุกวันนี้ เพราะพระคณาจารย์ ทั่วประเทศแ ละพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นได้มอบแผ่นพระยันต์ พร้อมทั้งเดินทางมาร่วม เมตตาอธิษฐานจิต กันอย่างมากมาย
การสร้างพระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ปี ๒๔๘๕ พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกพุทธสมาคมและคณะกรรมการ กำหนดไว้ให้สร้างเพียงแค่ ๒ แบบ คือ พระบูชา และ พระเครื่อง โดยได้กรมศิลปากรเข้ามาช่วยดูแลการหล่อและออกแบบพิมพ์พระ

พระบูชา ที่จัดสร้างในคราวนี้ได้จำลองแบบจากองค์พระพุทธชินราช วัดใหญ่ เมืองพิษณุโลก โดยใช้กรรมวิธีการหล่อเป็นพระขัดเงา จากหลักฐานบันทึก การสร้าง ได้ระบุไว้ว่า
"พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในครั้งนี้มีขนาดหน้าตักค่อนข้างใหญ่ ก่อนจะส่งไป ให้ทุกจังหวัด ทั่วเมืองไทยไว้สักการบูชา และถ้าประชาชนคนไหน ปรารถนา อยากได้ พระบูชาไว้เป็น ส่วนตัว ต้องแจ้งความจำนงเป็น ลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้ง ส่งเงินค่าจัดสร้างองค์ละ ๑๕๐ บาท ไปให้คณะกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดิน ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้ช่างจัดสร้าง ตามจำนวนที่แจ้งความจำนงไว้เท่านั้น"
ในส่วนของ พระเครื่อง คณะผู้ดำเนินงานได้ใช้กรรมวิธี ๒ แบบ คือ "หล่อ" และ "ปั้น" พระหล่อ จัดสร้างประมาณ ๙๐,๐๐๐ องค์ เป็นพระเนื้อโลหะผสม โดยมีทองเหลือง เป็นหลัก แต่สุดท้าย คัดเหลือ สภาพสมบูรณ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ซึ่งให้ความหมายเท่ากับพระธรรมขันธ์
เสน่ห์ของพระเครื่องพระพุทธชินราชแบบหล่อจะอยู่ที่ผิวพระและโค้ดใต้ ฐาน จะตอกเป็นรูปตรา "ธรรมจักร" และ "อกเลา" ซึ่งอกเลานี้ได้คัดลอกแบบ มาจากรูปอกเลาที่ติดอยู่หน้าบานประตูพระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่) จ. พิษณุโลก
พระพุทธชินราชแบบหล่อนี้ในตอนแรกได้หล่อ "อกเลานูน" ติดไว้บริเวณใต้ฐานพระ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นก้นเรียบ แล้วใช้วิธีตอกโค้ดแทนจนครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ ดังนั้นพระในส่วนที่เหลือจึงไม่ได้ตอกโค้ด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น